แนะนำเกี่ยวกับ acer
กล่องเป็นแบบฝาครอบ เมื่อเปิดออกมาจะพบตัวแท็บเล็ตวางอยู่ชั้นบน
อุปกรณ์ที่ให้มาด้วยก็มีเอกสารคู่มือต่างๆ, สายต่อ USB-Micro USB และสายชาร์จแบบเปลี่ยนหัวปลั๊กได้ (ไม่มีสาย Micro HDMI มาให้ด้วย)
ตัวอแดปเตอร์ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับอแดปเตอร์ของอุปกรณ์ไอทีสมัยนี้ ส่วนที่ผมไม่ชอบคือสายชาร์จค่อนข้างสั้น ใช้งานไม่สะดวกนัก (Iconia ไม่สามารถชาร์จผ่าน Micro USB ได้ ต้องชาร์จผ่านอแดปเตอร์ของตัวเองเท่านั้น)
ฮาร์ดแวร์ภายนอก
เมื่อแรกสัมผัส Iconia A500 จะรู้สึกทันทีว่าขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับ iPad แล้วจะผอมกว่าแต่ยาวกว่าเล็กน้อย เพราะเลือกใช้สัดส่วนจอภาพแบบ 16:10 สำหรับการดูหนังนั่นเอง
ตอนที่ผมถ่ายรูปประกอบการรีวิวชุดนี้ ไม่มีอุปกรณ์อะไรให้เทียบเลย เลยได้แต่เอามือถือตัวเอง (Nexus S) และเมาส์แถวๆ นั้นมาวางเทียบให้พอเห็นขนาดจริง (ดูรูปเทียบขนาดกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ในรีวิวของคุณ @kafaak)
น้ำหนักของมันก็มากกว่า iPad 1 เล็กน้อย เมื่อนำปัจจัยด้านขนาดกับน้ำหนักมารวมกัน ทำให้การพกพาออกนอกสถานที่ไม่ค่อยสะดวกเท่าไรนัก (ยิ่งบวกกับปัจจัยว่าไม่ใช่รุ่น 3G ยิ่งสมควร) ผมให้นิยามมันว่าเป็น desk tablet ที่ใช้ในบ้านน่าจะดีที่สุด
ส่วนสไตล์ของวัสดุ หน้าตา ก็เห็นชัดว่าเป็นแนวทางของ Acer ชนิดดูปุ๊บรู้ปั๊บ แต่คุณภาพของวัสดุและการประกอบก็ทำออกมาได้ดี หนักแน่น มั่นคง ไม่ดูเป็นพลาสติก
ความหนาของตัวเครื่อง วางเทียบกับปากกาเมจิกไซส์เล็ก เครื่องจะไม่เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก แต่โค้งมนเป็นวงรีครับ
ด้านหลังเป็นโลหะลาย brushed metal (ขัดเป็นเส้น) โดยมีกล้องอยู่ที่มุมด้านขวาบน และลำโพงสองตัวที่ขอบด้านล่าง
กล้องพร้อมแฟลช
พอร์ตเชื่อมต่อ
มาดูรอบๆ ตัวเครื่องกันบ้าง ด้านล่างของเครื่องเป็นพอร์ตเฉพาะของ Iconia เองสำหรับ dock กับคีย์บอร์ด (ยังไม่มีขาย แต่ทาง Acer บอกว่าจะนำเข้ามา)
ด้านขวามือ ที่ชิดกับขอบด้านล่างเป็นพอร์ต USB ขนาดเต็ม และ Micro USB อย่างละหนึ่งพอร์ต พร้อมช่องเล็กๆ สำหรับรีเซ็ตเครื่อง
ด้านขวามือ ชิดกับขอบบน เป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จ
ขอบด้านซ้าย ชิดขอบล่างเป็นพอร์ต Micro HDMI
ขอบซ้ายด้านบน มีปุ่มปิด-เปิด-ล็อคหน้าจอ (เรืองแสงได้และเปลี่ยนเป็นสีแดงตอนชาร์จ) และช่องเสียบหูฟังมาตรฐาน
ขอบด้านบนของเครื่อง จะมีปุ่มและพอร์ตเรียงอยู่ด้านซ้ายมือ จากภาพคือ "บานพับ" สำหรับเสียบ Micro SD, ปุ่มล็อคไม่ให้เอียงเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง
ปุ่มปรับระดับเสียงของ Iconia ถือว่าน่าสนใจ เพราะไม่ระบุว่ากดด้านไหนจะเพิ่มหรือลดเสียงตายตัว (เนื่องจากเราถือตัวแท็บเล็ตทิศทางไหนก็ได้) ต้องจำไว้ว่า "กดไปทางขวา = เพิ่มเสียง" เป็นพอ
ตัวบานพับจะคล้ายๆ กับ MacBook Air รุ่นแรก แต่เอาจริงแล้วมันเป็นยาง แกะออกมาจะเห็นช่องเสียบ Micro SD และช่องว่างอีกช่องหนึ่ง (สำหรับใส่ซิมการ์ดในรุ่น 3G)
จะเห็นว่าที่ด้านหน้าของ Iconia ไม่มีปุ่มใดๆ เลย สามารถใช้ได้ทุกทิศทาง (เพราะ Honeycomb ออกแบบมาดีมากในเรื่องนี้) อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงๆ ก็มีปัญหาอยู่บ้าง คือตอนจะหยิบขึ้นมาใช้ต้องคลำหา "ปุ่มปลดล็อค" (ซึ่งมีตำแหน่งตายตัว) ก่อน ทำให้ข้อดีของ Honeycomb เรื่องใช้งานได้ทุกทิศด้อยลงไป
ด้วยดีไซน์แบบนี้คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่แนวทางแก้ปัญหาแบบหนึ่งที่เป็นไปได้คือแนวทางของ BlackBerry PlayBook ที่เปลี่ยนการปลดล็อคหน้าจอด้วยปุ่ม มาเป็น gesture บนหน้าจอ (ลากจากขอบจอไปยังหน้าจอ) ซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีมาก เพราะเราไม่ต้องกังวลว่าจะจับเครื่องในแนวไหนอย่างแท้จริง
ซอฟต์แวร์จาก Acer
เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาครั้งแรกและยังไม่ติดตั้งแอพใดๆ จะมีแอพที่แถมมากับเครื่องดังภาพ
ถ้าไม่นับแอพของกูเกิลที่มากับตัว Honeycomb ก็จะเหลือแอพของ Acer เองดังนี้
- Acer Registration - ลงทะเบียน
- Acer Sync - ซิงก์กับพีซี (ฝั่งพีซีต้องลงโปรแกรมของ Acer ด้วย)
- AUPEO! - ฟังวิทยุออนไลน์
- Clear.fi - โปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย (ภาพ, เพลง, วิดีโอ)
- Docs To Go - ชุดโปรแกรมออฟฟิศ
- โปรแกรม "ชั้นวางของ" ของ Acer เอง ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่อะไรนอกจากเป็น launcher สำหรับเรียกโปรแกรมแยกตามหมวดอีกที ได้แก่ eReading, Games, Multimedia, Social
- Hero of Sparta - เกม (เดโม)
- Lets Golf - เกม (เดโม)
- Link to Facebook - ตามชื่อจริงๆ ครับ ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ Facebook (ให้มาทำไมเนี่ย)
- LumiRead - อ่านอีบุ๊ก (ยังไม่รองรับประเทศไทย)
- Media Server - สำหรับต่อออกอุปกรณ์อื่นผ่าน DLNA
- MusicA - โปรแกรมแท็กเพลงแบบเดียวกับ Shazam
- nemoPlayer - โปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย (ภาพ, เพลง, วิดีโอ)
- NFS Shift - เกม
- Photo Browser - โปรแกรมดูภาพอีกตัวหนึ่ง ใช้แทน Gallery ของ Honeycomb ได้
- SocialJogger - โปรแกรมสำหรับ Twitter/Facebook
- TegraZone - ร้านขายเกมของ NVIDIA
- Top HD Games - ร้านขายเกมของ GameLoft